So Good They can't Ignore You
หลังจากที่ได้แนะนำหนังสือ Deep Work ไปเมื่อคราวก่อน และแล้วก็มาถึงเวลาที่ได้มาแนะนำหนังสืออีกเล่มของ หนึ่งในนักเขียนคนโปรดของผม นั่นคือคุณ Cal Newport นั่นเอง
หนังสือเล่มนี้จะออกแนวจิกกัดไปทางคำพูดที่ว่า “จงทำในสิ่งที่รัก” ซึ่งคำพูดดังกล่าวนี้อาจทำให้คนเข้าใจกันผิดๆ ไปว่า “ต้องทำในสิ่งที่รักเท่านั้นจึงจะมีความสุข”
แต่โลกความจริงมันไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น คุณยังต้องกิน ต้องใช้เงิน ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ แล้วถ้า “สิ่งที่รัก มันหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และคุณได้ทุ่มชีวิตไปสุดตัวแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?” บางทีการทำแต่สิ่งที่รักแต่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงนั้น ก็อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นได้
แล้วเรายังมีทางที่จะมีความสุขจากการทำในสิ่งที่รักได้หรือไม่? หนังสือเล่มนี้มีแนวทางในการนำไปสู่คำตอบครับ
เป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร ?
เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องการมุมมองของการทำงานในชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะคิดว่าให้เริ่มจากการ “ทำในสิ่งที่รักสิถึงจะมีความสุข แล้วจึงจะส่งผลต่อความสำเร็จ”
แต่ความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะคนที่ประสบความสำเร็จแล้วนั้น อาจไม่ได้เริ่มมาจากการทำในสิ่งที่รักมาตั้งแต่ต้น แต่มันเกิดจากการทำงานจนช่ำชองซึ่งในหนังสือเรียกว่า “การทำงานแบบช่างฝีมือ” แล้วจึงส่งผลให้ “เรารักในสิ่งที่ทำ” แล้วจึงเกิดความสุขออกมา และส่งผลต่อความสำเร็จ
อ่านยากไหม ?
โดยส่วนตัวผมมองว่าอ่านไม่ยาก หากเราลองปรับใช้เนื้อหาของหนังสือให้เข้ากับชีวิตจริงของเรา แล้วจะทำให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น หากเรากำลังทำงานเป็นพนักงานประจำอยู่ สิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ต้นทุนทางอาชีพ” ของเราเป็นอย่างไร? แล้วต่อไปก็จะส่งผลไปยังสิ่งที่เรียกว่า “ความหลงใหล (Passion)” ของเรานั้นคืออะไร?
เนื้อหาคร่าวๆ เป็นอย่างไร ?
ผู้เขียนจะทำการแบ่งเนื้อหาออกมา 4 ส่วนหลัก โดยจะเรียกว่า กฎ
ดังต่อไปนี้
กฎข้อที่ 1 อย่าทำในสิ่งที่รัก
มีคนมากมายต่างคิดว่า “จงทำในสิ่งที่รัก” มาจากคำพูดของบุคคลชื่อดังอย่าง “สตีฟ จ็อบส์” ที่เขาได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ในมหาวิทยาลัยแสตนด์ฟอร์ด แต่ประเด็นที่สื่อมวลชนที่ทำข่าวโฟกัสเป็นส่วนใหญ่คือ “การทำในสิ่งที่รัก” จึงทำให้จำนวนคนมากมายอาจเข้าใจผิดไป ทั้งที่ความจริงแล้วหากลองฟังอย่างถี่ถ้วนในข้อความจะพบว่า “คุณต้องค้นหาสิ่งที่รัก… ทางที่สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม คือการรักในสิ่งที่ทำ ถ้ายังหาสิ่งนั้นไม่เจอ ก็จงหาต่อไป…” ดังนั้น หากลองพิจารณาดูแล้วอาจจะพบว่า การจะทำผลงานให้ยอดเยี่ยม คือ “การรักในสิ่งที่ทำ อันจะนำไปสู่การค้นพบในสิ่งที่รัก”
กฎข้อที่ 2 เก่งจนใครก็ไม่กล้าเมิน
การจะทำให้งานมีผลงานที่ยอดเยี่ยม ต้องแลกมาด้วยทักษะที่หายากและมีคุณค่า “ต้องมีการทุ่มเทความพยายามเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นจนใครๆก็ไม่กล้าเมิน” สิ่งนี้เองที่เรียกได้ว่าเป็น “ต้นทุนทางอาชีพ” ที่เราสั่งสมมาจนเชี่ยวชาญนั่นเองครับ ซึ่งต้นทุนที่ว่านี้ก็ต้องเกิดมาจาก “การฝึกฝนอย่างมุ่งมั่น” ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร
กฎข้อที่ 3 ปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่ง
ถ้าดูผิวเผินจากชื่อของกฎนี้แล้วอาจจะมองว่าให้ปฏิเสธความก้าวหน้าทางอาชีพหรือเปล่า? แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องนั้นซะทีเดียวครับ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อก็คือ ยิ่งถ้าเราได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น สิ่งที่อาจจะลดลงคือ “อำนาจในการควบคุมสิ่งที่จะทำ” เพราะยิ่งเราตำแหน่งสูงขึ้น ความคาดหวังต่อองค์กรที่มีต่อเราจะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เราดำเนินการไปตามทิศทางที่องค์กรกำหนดเท่านั้น แม้ว่าสิ่งนั้นเราจะไม่อยากทำก็ตาม แต่เราก็ไม่มีอำนาจในการควบคุมสิ่งที่จะทำนั้นแล้ว และก็ไม่ได้หมายความว่าการเลื่อนตำแหน่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายเลยไปซะทีเดียว เพียงแต่หากเราตัดสินใจที่จะเลื่อนตำแหน่งแล้ว ต้องมั่นใจว่า เราได้มี “ต้นทุนทางอาชีพ” เพียงพอที่จะมี “อำนาจในการควบคุมสิ่งที่จะทำ” นั้นด้วย เราจึงจะรักษา Passion ของเราไว้ได้
กฎข้อที่ 4 คิดเล็ก ทำใหญ่
ในการที่เราจะทำสิ่งใหญ่ที่มี impact สูงนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องเริ่มที่ทำการใหญ่เลยในทันที แต่เราสามารถแบ่งเป็น “สิ่งเล็กๆ” เพื่อที่เราจะประเมินดูว่าสิ่งที่เราทำนั้น สามารถขยายขอบเขตไปเป็น “สิ่งใหญ่ที่มี impact สูง” ได้หรือไม่ เพราะหากเราเริ่มจากการทำสิ่งใหญ่ๆ ก่อน แล้วไปพบทีหลังว่าสิ่งนั้นมี impact น้อย หรือไม่มี impact เลย จะทำให้เราเสียไปทั้งเวลา รวมถึงเสียพลังไปกับการทำสิ่งเรานั้น จนอาจส่งผลให้หมดไฟในการทำงาน
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร
เหมาะสำหรับคนที่ยังสับสนว่า “ความหลงใหล (Passion) ของเราคืออะไรกันแน่?” รวมถึงคนทำงานที่กำลังรู้สึกว่าตนเอง “หมดไฟในการทำงาน”
ซึ่งหนังสือเล่มนี้นั้น ผู้เขียนได้สื่อในเรื่องของ Passion ไว้ว่า
ถ้าหากเราลองพิจารณาและดำเนินการไปตามสิ่งที่คุณ Cal Newport ได้สื่อไว้ เราก็จะสามารถเพิ่มพูน “ทักษะ” และรักษากำลังใจให้สามารถทำงานได้ตาม “ความหลงใหล” ที่เรามีได้ครับ