Deep Work

Deep Work

ตอนที่เห็นหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก ผมรู้สึกว่า… ยังไม่ค่อยรู้สึกว่าอยากหยิบมาอ่านสักเท่าไร อาจจะเพราะตอนนั้นยังไม่ค่อยสนใจ รวมถึงยังไม่มีสถานการณ์ที่ดึงดูดให้หยิบมาอ่าน

จนเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง ชีวิตเริ่มมีความรู้สึกว่า งานประจำที่ทำ เริ่มเป็นมีงานที่ ตื้นเขิน เยอะขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ Productivity ที่ได้จากงานหลักจริงๆนั้น ลดน้อยลง จึงต้องหาหนทางในการรักษาความรู้สึกดังกล่าว โดยได้ฟัง Podcast รายการ Have a nice day! ของคุณเอ๋ นิ้วกลม ที่ได้รีวิวเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ เมื่อฟังไปแล้วจึงรู้สึกโดนใจขึ้นมา จึงวนมาที่ชั้นหนังสือ แล้วทำการหยิบไปจ่ายเงิน แบบไม่ต้องคิดอะไรให้มากมาย

เป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร ?

หากใครทำงานไปแล้วรู้สึกว่า ไม่ค่อยมีงานที่ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน หนังสือเล่มนี้ช่วยคุณได้ โดยหลักแล้วในความรู้สึกของผมนั้น หนังสือเล่มนี้จะมีเทคนิคในการจัดการเวลาได้เป็นอย่างดี

โดย Theme หลักของหนังสือจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานแบบ Deep Work หรือที่เรียกว่าเป็นการทำงานแบบดำดิ่งนั่นเอง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิด การทำงานแบบดำดิ่งว่า มีที่มาจากอะไร และมีประโยชน์อย่างไรเมื่อนำไปใช้งาน

ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของกฎการทำงานแบบดำดิ่ง ซึ่งจะเป็นเนื้อหาที่เริ่มออกไปทางแนวปฏิบัติมากขึ้น โดยมีตัวอย่างการทำงานแบบดำดิ่งของคนดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อดัม แกรนต์, วอล์เตอร์ ไอแซคสัน , รวมไปถึงธีโอดอร์ รูสเวลต์

อ่านยากไหม ?

สำหรับผมแล้ว ไม่ยากเลย เพราะไม่มีศัพท์เทคนิคใดๆ ให้ต้อง งงงวย เป็นหนังสือที่สามารถหยิบมาอ่านได้เรื่อยๆ ไม่มีสะดุด ทั้งมีตัวอย่างการทำงานแบบดำดิ่งของคนดังๆ มากมาย แล้วยิ่งถ้าเป็นคนที่คุณชื่นชอบแล้ว คุณจะอ่านได้แบบแบบเพลินๆ ไม่ต้องหยุดพักกันเลยทีเดียว

เนื้อหาคร่าวๆ เป็นอย่างไร ?

เนื้อหาช่วงแรกๆ ในส่วนที่ 1 จะเป็นเรื่องแนวคิดเป็นหลัก ซึ่งผู้เขียนหนังสือจะเริ่มต้นด้วยสองทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจใหม่ อันได้แก่ ทักษะการเชี่ยวชาญในเรื่องยากๆ ได้อย่างรวดเร็ว และทักษะในการสร้างผลงานชั้นยอดทั้งในแง่ของคุณภาพและความเร็ว ซึ่งทักษะทั้งสองนี้ยังคงต้องการการทำงานแบบดำดิ่งอยู่

ในส่วนนี้ยังมีเนื้อหาทั้งแนวคิดที่เห็นด้วยกับการทำงานแบบดำดิ่ง และแนวคิดที่ต่อต้านการปลีกตัวทำงาน เช่น วัฒนธรรมองค์กรสมัยใหม่ที่มีการเปิดกว้างพื้นที่การทำงานมากขึ้น โดยผู้เขียนหนังสือได้อ้างอิงตัวอย่างจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีสร้างพื้นที่การทำงานแบบเปิดโล่ง โดยบริษัทได้ให้เหตุผลว่า เป็นวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ รวมถึงการทำงานร่วมกันของคนในองค์กรที่ใครก็ตามไม่ว่าตำแหน่งไหนก็สามารถเข้าถึงโต๊ะทำงานของทุกคนตามงานต่างๆได้ โดยไม่จำกัดว่าจะอยู่ทีมเดียวกันหรือไม่

เนื้อหาในส่วนที่ 1 นี้ จะค่อนข้างเข้มข้นในส่วนของแนวคิดที่ว่า งานดำดิ่งยังคงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน เพราะเนื่องจากปัจจุบันการมองเห็นความสำเร็จของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ออกไปตามสื่อนั้น จะเห็นว่ามีความสำเร็จอย่างมากมาย สาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการทำออฟฟิศแบบเปิดโล่งดังที่กล่าวมาในย่อหน้าที่แล้ว แต่ทางผู้เขียนหนังสือนั้นพยายามแสดงให้เห็นว่าการทำงานแบบดำดิ่งยังคงมีความสำคัญอยู่ในบางวงการ

แท้จริงแล้วการทำงานแบบดำดิ่งนี้มีประโยชน์อย่างมาก และหากนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานในปัจจุบัน ก็จะสามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้ทักษะดังที่กล่าวมาในย่อหน้าแรก รวมกันกับแนวปฏิบัติการทำงานแบบดำดิ่งในส่วนที่ 2 ซึ่งทางผู้เขียนหนังสือได้ตั้งชื่อส่วนนี้ไว้ว่า กฎ ซึ่งประกอบไปด้วย การทำงานแบบจดจ่อ, การเปิดใจรับความเบื่อ, บอกลาโซเชียลมีเดีย และลดงานที่ตื้นเขิน

หนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร

สำหรับผมแล้วคิดว่า หนังสือเล่มนี้ เหมาะกับคนที่ต้องการที่จะจัดการเวลาในการทำงาน เนื่องจากงานในที่ทำงานของเรานั้น บางทีอาจจะไม่ได้มีรูปแบบเดียว โดยอาจอยู่ในลักษณะของ งานที่ตื้นเขิน เช่น การเช็ค, การตอบ email รวมไปถึงถ้าเข้าตามบริบทขององค์กรไทย ก็คือการต้องมาเช็คข้อความแชทของที่ทำงานเนี่ยแหละครับ

และผู้เขียนหนังสือนี้ได้เรียบเรียงเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นจริงค่อนข้างมาก เช่น ในเรื่องของงานที่ตื้นเขินนั้น บางทีเราอาจจะปฏิเสธการทำงานนี้ไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน และเรายังคงต้องหาเลี้ยงชีพ ดังนั้นเราคงปฏิเสธงานพวกนี้ไปไม่ได้ทันที แต่ทางผู้เขียนหนังสือก็ได้ให้แนวทางในการจัดการเวลาในการทำงาน เพื่อให้ยังคงได้ผลงานที่มีคุณภาพ และจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ℹ️
มาทำงานการอย่างราบรื่น และมีคุณภาพกันนะครับ…